ประวัติ

 

เรียบเรียงโดย รศ.ดร.ศิโรจน์  ผลพันธิน

 

ก่อน พ.ศ. 2482 การอนุบาลศึกษาของไทยยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เพราะมีโรงเรียนเอกชนเพียง 2 แห่งที่จัดสอนระดับชั้นอนุบาล คือ โรงเรียนมาแตร์เดอีและโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย แต่ก็ยังไม่ได้สอนเต็มรูปแบบการจัดการศึกษาระดับอนุบาลของมาดามมอนเตสเซอรี่ เน้นเพียงการให้เด็กร้องเพลง เล่น และแสดงภาพประกอบตัวอักษรเท่านั้นเมื่อหม่อมเจ้ารัชฎาภิเษก โสณกุลอธิบดีกรมศึกษาธิการ ซึ่งเป็นเพียงกรมเดียวของกระทรวงศึกษาธิการ (กระทรวงธรรมการ) ในขณะนั้นได้เล็งเห็นว่าการอนุบาล มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาเด็กจึงมีนโยบายที่จะตั้งโรงเรียนอนุบาลของรัฐขึ้นโดยในปี พ.ศ. 2482 กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งกรรมการ 3 คน เพื่อพิจารณาจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลเต็มรูปแบบขึ้น เรียกว่า “กรรมการจัดโครงการโรงเรียนอนุบาล” ประกอบด้วยนายนาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา (เคยเรียนการอนุบาลมอนเตสเซอรี่ที่ประเทศอิตาลี) ม.ล.มานิจ ชุมสาย และ นางแพทยพัทยภาคย์ (หัวหน้านางพยาบาลศิริราช)

คณะกรรมการได้ตกลงว่าให้โรงเรียนอนุบาลรับเด็กอายุสามขวบครึ่งเข้าเรียนแบบมอนเตสเซอรี่ คือ ร้องเพลง เล่านิทาน เน้นเรียนรู้จากการเล่น เช่น ให้สังเกตอักษรกับภาพจับคู่กัน ให้เล่นรูปทรงต่างๆ รวมทั้งดูแล อบรม สร้างนิสัยที่ดีให้กับเด็กๆ เช่น รักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบ สุขนิสัยในการกินอยู่ การมีเพื่อน ความมีน้ำใจ ฯลฯ เพื่อพัฒนาร่างกายและจิตใจของเด็กไปในแนวทางที่ถูกต้องดีงาม

เพื่อที่จะให้การดำเนินงานด้านอนุบาลศึกษาเป็นไปตามโครงการ กระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศรับสมัครสอบคัดเลือกผู้สนใจไปศึกษาและดูงานการอนุบาลศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 6 เดือนเพื่อให้มีความรู้ และกลับมาช่วยจัดตั้งโรงเรียนอนุบาล ผู้ที่สอบได้ คือ นางจิตรา ทองแถม ณ อยุธยา (คุณหญิงจิตรา ทองแถม ณ อยุธยา) เมื่อกลับมาจึงจัดเตรียมดำเนินงานโรงเรียนอนุบาลในปี พ.ศ.2482

ในระหว่างการดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลเมื่อปี พ.ศ. 2482 นั้น กระทรวงศึกษาธิการได้วางแผนจัดเตรียมครูอนุบาลให้กลับมารับราชการในโครงการนี้ จึงประกาศสอบคัดเลือกครูเพื่อไปเรียนวิชาอนุบาลที่ประเทศญี่ปุ่น มีผู้ผ่านการคัดเลือก 4 คน คือ

น.ส.สมถวิล สวยสำอาง (สังขทรัพย์)

น.ส.เบญจา ตุลคะศิริ (คุณหญิงเบญจา แสงมลิ)

น.ส.สรัสวดี วรรณโกวิท และ

น.ส.เอื้อมทิพย์ เปรมะโยธิน (วินิจฉัยกุล)

ซึ่งถือว่าทั้ง 4 คนนี้เป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการวางรากฐานการสอนในโรงเรียนอนุบาล

ขณะนั้นกระทรวงศึกษาธิการได้รับเงินบริจาคของนางสาวลออ หลิมเซ่งไถ่ จำนวนแปดหมื่นบาท จึงได้นำเงินจำนวนดังกล่าวสร้างตึกอนุบาลขึ้นในบริเวณโรงเรียนการเรือนพระนคร (มหาวิทยาลัยสวนดุสิตในปัจจุบัน) ให้ชื่อตึกหลังนี้ว่า “ตึกละอออุทิศ” (เดิมใช้ละอออุทิส) ใช้ตึกหลังนี้เป็นโรงเรียนอนุบาล ชื่อว่า โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ สังกัดกองฝึกหัดครูกรมสามัญศึกษา ซึ่งถือว่าเป็น โรงเรียนอนุบาลแห่งแรกของกระทรวงศึกษาธิการ และเปิดทำการสอนครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2483 โดยมีนางจิตรา ทองแถม ณ อยุธยา (คุณหญิงจิตรา ทองแถม ณ อยุธยา) เป็นครูใหญ่คนแรก  จุดมุ่งหมายในการจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศขึ้นมาเพื่อทดลองและทดสอบว่าประชาชนมีความสนใจ และเข้าใจเรื่องการอนุบาลศึกษาอันเป็นรากฐานการเรียนรู้ของเด็กมากน้อยเพียงใด สำหรับผู้ที่ดำเนินการอนุบาล คือ หม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย หัวหน้ากองฝึกหัดครู และนางจิตรา ทองแถม ณ อยุธยา หัวหน้าแผนกโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ ซึ่งปรากฏว่าในระยะ 1 ปี ที่เปิดดำเนินการ ประชาชนมีความสนใจพากันนำบุตรหลาน มาเข้าโรงเรียนละอออุทิศเป็นจำนวนมาก จนต้องขยายชั้นเรียนเพิ่มขึ้นอีก และกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายที่จะเปิดโรงเรียนอนุบาลของรัฐขึ้นในต่างจังหวัดด้วย

การดำเนินงานของโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ ประสบกับความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ กระทรวงศึกษาธิการ จึงมอบหมายให้กองฝึกหัดครู โดย หม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย หัวหน้ากองฝึกหัดครูดำเนินการให้โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ เปิดรับนักเรียนฝึกหัดครูที่สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรประโยคครูประถมเข้ารับการอบรมหลักสูตร 1 ปี เพื่อเป็นครูอนุบาล ซึ่งเป็นการเปิดแผนกฝึกหัดครูอนุบาลขึ้นเป็นปีแรกในปีการศึกษา 2484 และให้นางจิตร ทองแถม ณ อยุธยา เป็นหัวหน้าแผนกอบรมครูอนุบาลอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย มีผู้สมัครเข้ารับการอบรมในปีแรกเพียง 10 คน และเมื่อสำเร็จการศึกษาก็ได้ รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูอนุบาลรุ่นแรกของโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ นางจิตรา ทองแถม ณ อยุธยา ย้ายไปรับราชการตำแหน่งอาจารย์โรงเรียนศิลปากร และแต่งตั้งให้ นางสาวสมถวิล สวยสำอาง(นางสมถวิล สังขทรัพย์) ดำรงตำแหน่งแทน และได้ดำเนินงานด้านการอนุบาลศึกษาในโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ และแผนการอบรมครูอนุบาล

เนื่องจากโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างรวดเร็ว จากปีแรกที่รับ นักเรียน 30 คน ปรากฏว่าในปีถัดมา พ.ศ. 2484 มีนักเรียน เพิ่มขึ้นเป็น 116 คน ทำให้การอบรมครูอนุบาลต้องรับนักเรียนเพิ่มขึ้น ประกอบกับกระทรวงศึกษาธิการมีโครงการที่จะเปิด โรงเรียนอนุบาลขึ้นเป็นตัวอย่าง ให้ครบทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 โรงเรียน ดังนั้นในปี พ.ศ. 2486 จึงได้มีการขยายการฝึกหัดครูอนุบาล โดยให้นางสาวเบญจา ตุงคะศิริ (คุณหญิงเบญจา แสงมลิ) ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น มารับหน้าที่หัวหน้าแผนกฝึกหัดครูอนุบาลเป็นคนแรก และเป็นผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการวางรากฐานด้านการฝึกหัดครูอนุบาลของประเทศไทย โดยเสนอปรับปรุงหลักสูตรใหม่จากการอบรมครูอนุบาล (พ.ศ. 2484-2485) มาเป็นหลักสูตรการอนุบาลศึกษา สำหรับผู้เข้าเรียนในปี พ.ศ. 2486 เป็นต้นไป จึงถือว่าเป็นการ จัดการศึกษาสำหรับการฝึกหัดครูอนุบาลเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังได้ทุ่มเทเวลาให้กับการพัฒนาการอนุบาลศึกษาจนได้รับการยกย่องจากบุคลากรทุกวงการว่าเป็น “ปรมาจารย์ด้านการอนุบาลศึกษาไทย” และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นจตุถจุลจอมเกล้า เมื่อ พ.ศ. 2519 และชั้นตติยจุลจอมเกล้า เมื่อ พ.ศ. 2526

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2487-2490 ได้มีการแยกส่วนการบริหารจัดการระหว่างโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ กับแผนฝึกหัดครูอนุบาล โดยนางสาวสมถวิล สวยสำอาง เป็นครูใหญ่โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ และ นางสาวเบญจา ตุงคะศิริ เป็นหัวหน้าแผนกฝึกหัดครูอนุบาล ในปี 2488 ซึ่งเป็นช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่ 2 นักเรียน ฝึกหัดครูอนุบาลต้องอพยพไปเรียนที่โรงเรียนดัดดรุณี จังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศได้ปิดการเรียนชั่วคราว พ.ศ. 2490 แผนกฝึกหัดครูอนุบาล ได้มาเปิดทำการสอนที่หลังกระทรวงศึกษาธิการ (คุรุสภาในปัจจุบัน)ต่อมา นางสาวสมถวิล สวยสำอาง ได้ลาออก(13 ตุลาคม พ.ศ. 2490) นางสาวเบญจา ตุงคะศิริ จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศอีกตำแหน่งหนึ่ง และได้ย้ายการฝึกหัดครูอนุบาลกลับมาอยู่ที่เดิมในโรงเรียนการเรือน พ.ศ. 2504 โรงเรียนการเรือนพระนคร ได้พัฒนามาเป็นวิทยาลัยครูสวนดุสิต สังกัดกรมการฝึกหัดครู ส่วนโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศอยู่ในความดูแลของกรมการฝึกหัดครู คุณหญิงเบญจา แสงมลิ เกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2518 กรมการฝึกหัดครูจึงได้แต่งตั้ง อาจารย์เครือวัลย์ ขจรพันธุ์ ดำรงตำแหน่งแทน ระยะนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงบริหารงานในวิทยาลัยครู รวมทั้งโครงสร้างของวิทยาลัยครูให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. วิทยาลัยครู (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2518 โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ” เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของงาน และสภาพความเป็นจริง จึงได้มีการรวมโรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ กับการฝึกหัดครูอนุบาล เข้าด้วยกันเป็นภาควิชาการอนุบาลศึกษา สังกัดคณะวิชาครุศาสตร์ วิทยาลัยครูสวนดุสิต โดยอาจารย์เครือวัลย์ ขจรพันธุ์ ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าคณะวิชาครุศาสตร์ อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย และมีการแยกอาจารย์ที่สอนเด็กพิเศษออกไปเป็นภาควิชาการศึกษาพิเศษอาจารย์เครือวัลย์ ขจรพันธ์ ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งในเดือนมกราคม พ.ศ. 2524 และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมใจ ทิพย์ชัยเมธา ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาการอนุบาลศึกษาที่กำกับดูแลทั้งฝ่ายฝึกหัดครู และโรงเรียนสาธิต การพัฒนาระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศในช่วงนี้ จะมุ่งเน้นการจัดประสบการณ์ให้สอดคล้อง กับการพัฒนาของเด็ก เป็น 3 ระยะ คือระยะปฐมนิเทศ ระยะเสริมประสบการณ์ และระยะขยายประสบการณ์และการจัดกิจกรรม 2 รูปแบบ คือ การจัดกิจกรรมเสรี และกิจกรรมกลุ่มนอกจากนี้ยังได้มีการจัดโครงการเรียนร่วม ระหว่างเด็กปกติ กับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disability L.D.) ซึ่งประสบความสำเร็จ ในการจัดการเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ในระดับอนุบาล และถือว่าเป็นแบบอย่างของการจัดการเรียนร่วมระหว่างเด็กปกติกับเด็กพิเศษในโรงเรียน

 

 

ในปี พ.ศ. 2527 ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมใจ ทิพย์ชัยเมธา เกษียณอายุราชการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อารยา สุขวงศ์ ได้รับตำแหน่งให้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ ในช่วงระยะเวลานี้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาทางด้านการอนุบาลศึกษาเป็นอย่างมากในประเทศไทย จากการที่มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นในวัยอนุบาล และความตื่นตัวของประชากรในการให้การศึกษาสำหรับเด็กอนุบาลทำให้การแข่งขันของโรงเรียนอนุบาลมีมาก มีโรงเรียนอนุบาลเกิดขึ้นใหม่ทั้งของรัฐ และเอกชน
ประกอบกับผู้ปกครองส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ทำให้มีการจัดชั้นเรียนเพิ่มขึ้น มีการเปิดระดับชั้นเด็กเล็ก (ก่อนอนุบาล) และขยายการจัดชั้นอนุบาลจาก 2 ปี เป็น 3 ปี เปลี่ยนชื่อจากการจัดการศึกษาระดับอนุบาลไปเป็นการจัดการศึกษาปฐมวัย เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงระยะทางการจัดการศึกษา จากการแข่งขันทางการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัยทำให้ปรัชญาในการจัดการศึกษาจากเดิม ที่เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กก่อนจะเข้าเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 มาเป็นการเตรียมความพร้อมทางด้านวิชาการมากขึ้น โดยการเพิ่ม
การเรียนรู้ในภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และสังคมมากขึ้น เพื่อตอบสนองความพึงพอใจของผู้ปกครองที่ต้องการเห็นลูกหลานตนเองเก่ง และสามารถสอบคัดเลือกเข้าเรียนในระดับประถมของโรงเรียนที่มีชื่อเสียงได้ การยัดเยียดความรู้ทางวิชาการให้กับเด็กวัยนี้ เป็นส่วนที่ทางโรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศไม่เห็นด้วย จึงยังคงยึดแนวทางและปรัชญาเดิม เพื่อให้เด็กมีความพร้อม ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคม ก่อนการเรียนรู้ทางวิชาการ

ลักษณะการดำเนินงานของโรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ จึงมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 

1. เป็นสถาบันให้การศึกษาอบรมแก่เด็กปฐมวัย อายุ 3-6 ปี และเด็กในโครงการทดลองบ้านสาธิตอายุ 2-3 ปี ซึ่งเป็นงานที่โรงเรียนให้ความสำคัญยิ่ง โดยยึดแนวทางปรัชญา วิธีการดำเนินการเรียนการสอนตามวิธีการดำเนินการเรียนการสอนตามวิถีทางแห่งการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่สืบเนื่องมาตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งโรงเรียน จึงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า โรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ เป็นโรงเรียนอนุบาลที่สอนเด็กโดยมุ่งการเตรียมความพร้อมและส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ให้พัฒนาไปอย่างเหมาะสมสอดคล้อง และต่อเนื่องกันไป

2. เป็นแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ให้แก่นักศึกษาครู ให้นักศึกษาได้มาศึกษาสังเกต มีส่วนร่วมในการสอน ทดลองสอน และฝึก ประสบการณ์วิชาชีพครูเต็มขั้น

3. เป็นแหล่งทดลอง ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาความรู้ทางด้านการศึกษาปฐมวัย ซึ่งเปิดโอกาสให้คณาจารย์ ได้มาทำการทดลองวิจัยเพื่อพัฒนาความรู้ และรวมทั้งเป็นแหล่งให้ความร่วมมือสนับสนุนการวิจัยของหน่วยงานอื่น ในปี พ.ศ. 2530 ได้สร้างอาคารเรียนมีลักษณะเป็นบ้าน จำนวน 2 หลัง บริเวณมุมสนามหญ้าของโรงเรียนด้านติดกับสระน้ำมหาวิทยาลัยเพื่อทำการทดลอง และวิจัยเกี่ยวกับการจัดสภาพแวดล้อม ที่กระตุ้นการเรียนรู้ให้กับเด็กวัย 2-3 ปี ที่จะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก และเพื่อการทดลองหารูปแบบการจัดบ้านสาธิตในเชิงธุรกิจ ซึ่งนอกจากผลการทดลองวิจัยจะช่วยสนับสนุนให้เห็นรูปแบบทางการศึกษาปฐมวัยโดยตรงแล้วในทางอ้อมยังเป็นการให้การศึกษาแก่เด็กอายุ 2-3 ปี และเป็นที่สาธิตการจัดการศึกษาให้แก่เด็กวัยดังกล่าวให้แก่ผู้ที่สนใจได้มาศึกษาวิธีการจัดดำเนินงานและฝึกงานอีกด้วย

4. เป็นแหล่งเผยแพร่นวัตกรรมทางการศึกษาเมื่อมีการศึกษาค้นคว้าทดลองวิจัยในเชิงทฤษฎีแล้วยังมีการนำทฤษฎีต่างๆ มาทดลองในการปฏิบัติ และพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้เกิดผลในการนำไปใช้ ในปัจจุบันโรงเรียนได้พัฒนาและจัดพิมพ์หนังสือแผนการจัดประสบการณ์ของเด็กอายุ 3-6 ปี แบบฝึกทักษะที่สอดคล้องกับแผนการจัดประสบการณ์ทั้ง 3 ระดับชั้นเรียน สมุดรายงานประจำตัว ซึ่งเป็นการประเมินผลพัฒนาการของเด็กระดับอายุ 2-6 ปี รวมทั้งการผลิตสื่อการสอนและเกมการศึกษา

 

จากการพัฒนา ศึกษา และค้นคว้า ทำให้เห็นได้ว่าการจัดการเรียนการสอนได้มีการพัฒนาไปอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับเด็กจะมุ่งเน้นการจัดจากสิ่งแวดล้อม และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพ ในการจัดการเรียนมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2545 โรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศได้เปิดการจัดการศึกษาระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 1 เป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะจัดการเรียนรู้ตามแนวทางที่ใช้สิ่งแวดล้อม และกิจกรรมเป็นหลัก ซึ่งเด็กไม่จำเป็นต้องมีเครื่องแบบ ไม่มีการบ้าน หนังสือ ตำราต่างๆ อยู่ในชั้นเรียน โดยไม่ต้องนำกลับบ้าน ไม่มีการสอนพิเศษ แต่มีกิจกรรมเสริมให้ในตอนเย็น และมีการเรียนภาษาอังกฤษจากสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้มี การบริหารโครงการที่เป็นอิสระ จึงมีการแยกส่วนของโรงเรียนเป็นโรงเรียนสาธิตประถมละอออุทิศโดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภเนตร ธรรมบวร(รองศาสตราจารย์ ดร.นภเนตร ธรรมบวร) เป็นผู้ดูแลจัดการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อารยา สุขวงศ์ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ของโรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ ในยุคแห่งการปรับปรุงและ เปลี่ยนแปลง (พ.ศ. 2527-2547) และได้เป็นผู้มีแนวความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนางานของ โรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศให้เจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านบริหารจัดการและวิชาการ จนเป็นที่ยอมรับ โดยทั่วไป ผู้ช่วยศาสตราจารย์อารยา สุขวงศ์ เกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2547 ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ และยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาอธิการบดีฝ่ายโรงเรียนสาธิต จนถึงปัจจุบัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์จงรักษ์ อังกุราภินันท์ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศในปี พ.ศ. 2547 และเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2549 และในปี พ.ศ. 2550 รองศาสตราจารย์ ดร.นภเนตร ธรรมบวร ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ (ได้มีการรวมส่วนการบริหารโรงเรียนที่เป็นอนุบาลและประถมศึกษาเข้าด้วยกันใหม่ ปรับชื่อของโรงเรียนเป็น “โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ” เป็นส่วนงานอิสระ ภายใต้ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต พ.ศ.2547 ขึ้นตรงต่ออธิการบดี) ต่อมาถึงแก่กรรมหลังจากที่เข้ารับตำแหน่งได้ 3 เดือน ผู้ช่วยศาสตราจารย์จงรักษ์ อังกุราภินันท์ จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตละอออุทิศอีกครั้งหนึ่ง

ในปีพ.ศ. 2558 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตได้มีการเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ.ศ. 2558 โรงเรียนสาธิตละอออุทิศเป็นส่วนงานเที่ยบเท่าคณะ ขึ้นตรงต่ออธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรุณศรี จันทรง เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560

ตลอดระยะเวลากว่า 80 ปี ที่โรงเรียนอนุบาลสาธิตละอออุทิศ ได้ก่อตั้งมาได้มีการพัฒนามาโดยตลอด จนกระทั่งเป็นโรงเรียนสาธิตละอออุทิศในปัจจุบัน ผ่านการพัฒนามาอย่าง ไม่หยุดนิ่งทั้งรูปแบบการบริหารจัดการ และวิชาการ จนเป็นต้นแบบของการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัย รวมทั้งเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ซึ่งในท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาโลกที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยมากขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่า หากเด็กได้รับการพัฒนาให้มีพัฒนาการอย่างสมดุล ในทุกด้านจะเป็นการนำไปสู่ การพัฒนาคุณภาพมนุษย์ที่ยั่งยืน และป้องกันปัญหาสังคม ได้ในระยะยาว

โรงเรียนสาธิตละอออุทิศซึ่งตระหนักในความสำคัญส่วนนี้  จึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อให้เด็กปฐมวัย สามารถพัฒนาตนเองอย่างสมดุลในทุกด้าน โดยเฉพาะการปลูกฝังให้เป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมสามารถอยู่ร่วมในสังคม ได้อย่างมีความสุข ขณะเดียวกัน โรงเรียนสาธิตละอออุทิศก็ยังเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการของโรงเรียนให้มากยิ่งขึ้นเพื่อรักษาความเป็นต้นแบบ การศึกษาปฐมวัย ที่จะสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้แก่สถานศึกษาระดับปฐมวัยอื่นๆ ในการเข้ามาศึกษาและ ให้เป็นแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับสถานศึกษานั้นๆ   อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาเด็กปฐมวัย ในระดับภาพกว้างที่ขยายออกไป

นอกเหนือจากโรงเรียนสาธิตละอออุทิศในมหาวิทยาลัยแล้ว  เมื่อมหาวิทยาลัยไปจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาการศึกษาปฐมวัยที่ใด  ก็จะมีการจัดตั้งโรงเรียนสาธิตละอออุทิศขึ้นด้วยเช่นกัน ปัจจุบันนี้จึงมีโรงเรียนสาธิตละอออุทิศที่เป็นสาขาอยู่ 3 แห่ง คือ โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ (ลำปาง), โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ (สุพรรณบุรี), โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ (นครนายก) ซึ่งมีรูปแบบบริหารจัดการและระบบการศึกษาเช่นเดียวกับในมหาวิทยาลัย

ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือ พัฒนาการและความคาดหวังของโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ ที่จะยังคงรักษาเจตนารมณ์ของการก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลของรัฐ มากว่า 80 ปี ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาการศึกษา ให้มีความทันสมัย มีคุณภาพและมาตรฐานที่สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกเพื่อการปูพื้นฐานของการพัฒนาเด็กไทย ให้เป็นคนดีและคนเก่งของประเทศต่อไป

 

Translate