ถึงแม้ว่าการศึกษาไทยจะถูกพัฒนาขึ้นมากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งการก่อตั้งโรงเรียนรัฐและเอกชนหลายแห่ง ไปจนถึงพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่การศึกษาที่เป็นรากฐานอย่างชั้นอนุบาลนั้นยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก แต่จะเน้นให้คนไทยอ่านออกเขียนได้เสียมากกว่า
ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2482 โรงเรียนที่จัดสอนระดับชั้นอนุบาลมีเพียงแค่ 2 โรงเรียน คือโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยและโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน โดยเน้นสอนด้วยการดนตรี ศิลปะ เพื่อฝึกความสัมพันธ์ของมือและตา และใช้ภาพประกอบตัวอักษร ซึ่งเป็นแนวคิดแบบ Froebel และ Montessori ที่เข้ามาในไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
นอกจากนี้ก็ยังมีโรงเรียนราชินีเป็นโรงเรียนแห่งแรกโดยคนไทยที่เปิดสอนชั้นอนุบาล โดยใช้แนวคิดแบบ Froebel และ Montessori เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานี้ก็ยังไม่มีโรงเรียนอนุบาลที่เป็นของรัฐเกิดขึ้น
ต่อมา ม.จ.รัชฎาภิเศก โสณกุล อธิบดีกรมการศึกษาธิการ เล็งเห็นความสำคัญของการเรียนการสอนในชั้นอนุบาล เพื่อวางรากฐานทางการศึกษาให้กับเด็กๆ จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดโครงการโรงเรียนอนุบาลขึ้นในปี พ.ศ. 2480 เพื่อเตรียมเปิดโรงเรียนอนุบาลที่เป็นของรัฐ
ระหว่างปี พ.ศ. 2480-2482 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศรับสมัครครูให้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อกลับมาจัดตั้งโรงเรียนอนุบาล โดยผู้ที่ได้รับคัดเลือกได้แก่ นางสาวสมถวิล สวยสำอาง, นางสาวเบญจา ตุลคะศิริ, นางสาวสรัสวดี วรรณโกวิท และนางสาวเอื้อมทิพย์ เปรมะโยธิน ซึ่งต่อมาคุณครูทั้ง 4 ท่าน ก็เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการสอนชั้นอนุบาล
ก่อนหน้าที่โรงเรียนอนุบาลแห่งแรกจะก่อตั้งขึ้น กระทรวงศึกษาธิการได้รับเงินบริจาคจาก “นางสาวละออ หลิมเซ่งไถ่” เป็นจำนวน 80,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้นำมาใช้สร้างตึกชั้นอนุบาลในบริเวณโรงเรียนการเรือนพระนคร หรือมหาวิทยาลัยสวนดุสิตในปัจจุบัน
ตึกหลังนี้จึงได้ชื่อว่า “ละอออุทิส” (ภายหลังเปลี่ยนเป็น ละอออุทิศ) ใช้เป็นตึกสำหรับโรงเรียนอนุบาลละอออุทิส (ภายหลังเปลี่ยนเป็น ละอออุทิศ) สังกัดกองฝึกหัดครูกรมสามัญศึกษา
โรงเรียนละอออุทิศ เลือกวิธีการสอนตามแนวคิดแบบ Froebel ที่หรือที่เรียกว่า Play Way Method เน้นการเรียนปนเล่น ใช้ดนตรี การร้องรำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กๆ
การสอนกำหนดไว้ที่ 2 ปี คือชั้นอนุบาลปีที่ 1 และชั้นอนุบาลปีที่ 2 โดยค่อยๆ เริ่มจากให้เด็กเรียนรู้กิจวัตรประจำวัน แล้วค่อยเพิ่มความรู้เข้าไปให้มากขึ้น
สำหรับผู้ที่รับหน้าที่เป็นหัวหน้ากองฝึกหัดครู แต่งตำราเรียน และควบคุมการก่อสร้าง คือ ม.ล.มานิจ ชุมสาย จนกระทั่งวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2483 โรงเรียนละอออุทิศก็ได้เปิดสอนอย่างเป็นทางการ โดยมีนางจิตรา ทองแถม ณ อยุธยา เป็นครูใหญ่คนแรก ในช่วงแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจดูว่าประชาชนเข้าใจ และสนใจการเรียนระดับชั้นอนุบาลมากแค่ไหน
หลังผ่านไปได้ 1 ปี ผลปรากฏว่าประชาชนสนใจนำลูกหลานเข้ามาเรียนในโรงเรียนละอออุทิศกันเป็นจำนวนมาก จากปีแรกรับนักเรียนเพียง 30 คน ก็เพิ่มขึ้นเป็น 116 คน จนโรงเรียนต้องขยายชั้นเรียนเพิ่ม ด้วยผลลัพธ์เช่นนี้ ทำให้กระทรวงศึกษาธิการมีแผนที่จะเปิดโรงเรียนอนุบาลของรัฐในต่างจังหวัดขึ้นมาด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 ก็ได้มีการเปิดรับนักเรียนฝึกหัดครูอนุบาล โดยเปิดรับครูที่สำเร็จการศึกษาประกาศณียบัตรประโยคครูประถม ให้เข้ามาอบรมหลักสูตร 1 ปี เพื่อเป็นครูอนุบาล โดยมีนางจิตรา ทองแถม ณ อยุธยา เป็นหัวหน้าแผนกอบรมครูอนุบาล รุ่นแรกมีผู้สมัครเพียง 10 คน และเมื่อจบหลักสูตรก็ได้บรรจุเป็นครูอนุบาลที่โรงเรียนลอออุทิศนั่นเอง
ในปี พ.ศ. 2486 เนื่องจากการเรียนชั้นอนุบาลแพร่หลายมากขึ้น กระทรวงศึกษาธิการจึงมีโครงการให้เปิดโรงเรียนอนุบาลตามจังหวัดต่างๆ ทำให้จำนวนครูไม่เพียงพอ จึงต้องเร่งฝึกหัดครูอนุบาลให้มีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการ
การฝึกอบรมครั้งนี้ ได้นางสาวเบญจา ตุงคะศิริ หนึ่งในครูที่ไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้รับหน้าที่หัวหน้าแผนกฝึกหัดครูอนุบาล โดยปรับปรุงหลักสูตรจากการอบรมครูอนุบาล (พ.ศ. 2484-2485) มาเป็นหลักสูตรการอนุบาลศึกษา โดยผู้ที่เข้าเรียนตั้งแต่ พ.ศ. 2486 เป็นต้นไป จะถือว่าเป็นการฝึกครูอนุบาลโดยตรง
ในระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีบางช่วงที่โรงเรียนละอออุทิศหยุดการสอนไปเพราะภาวะสงคราม และมีบางช่วงที่นักเรียนต้องย้ายสถานที่ไปเรียนที่วัดปรินายก เมื่อสงครามสิ้นสุดลงก็ได้ย้ายกลับมายังสถานที่เดิม แต่พบว่าอาคารพังเสียหายไปแล้ว ต่อมาจึงมีการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ในปี พ.ศ. 2490
โรงเรียนละอออุทิศและแผนกฝึกหัดครูอนุบาลได้เปิดหลักสูตรการสอนอีกหลายสาขา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2518 พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 (ฉบับที่ 1) ซึ่งเปลี่ยนแปลงให้วิทยาลัยครูเปิดสอนในระดับปริญญาตรีได้
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2520 โรงเรียนละอออุทิศ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ” และได้รวมกับการฝึกหัดครูอนุบาลเข้าด้วยกันจนกลายเป็นภาควิชาการอนุบาลศึกษา สังกัดคณะวิชาครุศาสตร์ วิทยาลัยครูสวนดุสิต
นอกจากโรงเรียนที่กรุงเทพฯ แล้ว ก็ยังมีโรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศที่จังหวัดสุพรรณบุรี นครนายก และลำปางอีกด้วย
ปัจจุบันโรงเรียนลอออุทิศหรือโรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ เปิดทำการมากกว่า 80 ปีแล้ว โดยยังคงพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้เข้ากับสภาพสังคม เพื่อวางรากฐานให้กับเด็กๆ ได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
เป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขนั่นเอง
สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ประวัติละอออุทิศ
อ้างอิงเรื่องและภาพ